พระราชประวัติสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร



พระประสูติกาล

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นพระราชธิดา ลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พรพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติวันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427 เดือน 5 แรม 6 ค่ำ ปีวอก ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาบรมราชเทวี ในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระเชษฐา พระเชษฐภคินี พระอนุชา และพระขนิษฐา ดังนี้

1. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ต่อมาทางได้สถาปนาพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกในราชการที่ 5
2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาภรณ์
3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา
4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
5. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์
6. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ
7. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์
8. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า (ยังไม่ได้พระราชทานพระนาม) สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติได้ 3 วัน

เมื่อพระชนม์ครบหนึ่งเดือน โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสมโภชเดือน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาบรมราชเทวี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี


ทรงพระเยาว์

พ.ศ. 2431 สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาบรมราชเทวี ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณพิมลรัตนวดี เนื่องจากพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงสูญเสียพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ใน พ.ศ. 2430 พระองค์ทรงปรารภจะมีพระราชธิดา จึงทรงขอประทานสมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ จากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ให้เป็นพระราชธิดาในปลายปี พ.ศ. 2431 สมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงมีพระพี่เลี้ยงชื่อ จันทร์ ชูโต พระพี่เลี้ยงถวายการปรนนิบัติเลี้ยงดูจน พ.ศ. 2462 พระพี่เลี้ยงก็ถึงแก่อนิจกรรม

- การศึกษา สมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงได้รับการศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารี ซึ่งตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ทรงเริ่มเข้าศึกษาวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 โดยมีพระยาอิศรพันธ์โสภณ เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษร ส่วนการศึกษาภาษาอังกฤษ พระอาจารย์ที่ถวายการสอนคือ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์, หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมจันทร์ เทวกุล และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

- พระราชพิธีโสกัณต์ เมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงมีพระชนม์สิบสองพระชันษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ และ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา

- พระกระยาหารโปรด สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ จะเสวยในห้องประทับเล่น โดยมีข้าหลวงเชิญเครื่องเสวยจากที่พักเครื่อง ขึ้นมาชั้นบนพระตำหนักประทับพับเพียบเสวย ซึ่งมีพรมปูไว้และมีพระขนน (หมอนอิง) ข้างพระองค์พระกระยาหารที่ขาดไม่ได้ คือ ปลาดุกย่างและหมูหวาน ส่วนผลไม้ที่โปรดมากที่สุด คืออ้อยควั่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเล่าพระราชทานว่าเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ยังทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ไม่โปรดเสวยผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ องุ่น ซึ่งขณะนั้นเป็นของที่แพง และหรูหรามากเพราะ เป็นผลไม้เมืองนอก


เจริญพระชันษา

พระองค์ทรงมีความสนิทสนมกับเจ้านายพี่น้องเกือบทุกพระองค์ แต่ที่ทรงสนิทสนมมาก คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา สมเด็จฯเจ้าฟ้านิภานภดล พระองค์เจ้าหญิงเยาวภาพงศ์สนิทพระองค์เจ้าหญิงประภาพรรณพิไลย พระองค์เจ้าหญิงวาปีบุษบากร ส่วนเจ้านายฝ่ายหน้าก็มี สมเด็จฯเจ้าฟ้าจักพงษ์ภูวนาถ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร พระองค์เจ้ากิตติยากรวรลักษณ์ โดยเฉพาะพระองค์เจ้าหญิงเยาวภาพงศ์สนิทนั้น พระองค์ทรงสนิทสนมด้วยมาก โปรดเสด็จตามที่ต่างๆ กับพระองค์เจ้าหญิงเยาวภา พงศ์สนิท บางคราวทั้งสองพระองค์จะเสวยพระกระยาหารร่วมกันกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนภาดารา ก็ทรงสนิทสนมด้วยมากเพราะเมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงนำสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารามาทรงเลี้ยงไว้พักหนึ่ง เวลาบ่อยๆ เกือบทุกวัน พระองค์จะเสด็จทรงเยี่ยมเจ้านายตาม ตำหนักต่างๆ

สิ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการเย็บปักถักร้อย ทรงทำผ้ารองจาน ผ้ารองแก้ว เสื้อกันหนาว หรือไม่ก็ทรงร้อยดอกไม้ ทรงจัดดอกไม้ในแจกันและทรงพระอักษร บางคราวจะทรงเล่นเกมส์ เช่น หมากฮอร์ส สกาลูโด ผสมอักษรอังกฤษเป็นคำๆ ทรงเลือกแต่งฉลองพระองค์ซึ่งมีสีสันสวยงาม พระองค์ไม่โปรดเครื่องประดับมากนักแต่ที่ทรงโปรดมากคือเครื่องประดับไข่มุก ไม่ว่าจะเสด็จที่ใดจะทรงสวมไข่มุกบ่อยครั้ง และทรงมีไข่มุกมากมายหลายสี


สิ้นพระบรมราชชนก

ชาวไทยทุกถ้วนหน้าประสบกับการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอย่างกระทันหัน และเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ซึ่งนำความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวงมาสู่เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาชน


สิ้นพระชนม์

พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 เวลา 23.15 นาฬิกา ด้วยพระอาการสงบ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนผู้ใกล้ชิด